ผู้รักความยุติธรรม(เปาบุ้นจิ้น)









เปา เจิ่ง (จีน: 包拯; พินอิน: Bāo Zhěng) , สมัญญาว่า "ซีเหริน" (จีน: 希仁; พินอิน: Xīrén; "ยอดคน") , นามที่ได้รับการเฉลิมเมื่อถึงแก่กรรมแล้วว่า "เสี้ยวสู้" (จีน: 孝肅; พินอิน: Xiàosù; "ผู้เป็นปูชนียะประหนึ่งบิดามารดา") หรือรู้จักในไทยตามสำเนียงแต้จิ๋วว่า "เปาบุ้นจิ้น" เป็นข้าราชการชาวจีน มีชีวิตอยู่จริงในรัชสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิเหรินจงแห่งราชวงศ์ซ่ง มีชื่อเสียงมากและเป็นที่สรรเสริญในด้านความซื่อสัตย์และความยุติธรรม กระทั่งต่อมาภายหลังได้รับยกย่องในเอเชียว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความยุติธรรมและเป็นสัญลักษณ์แห่งความยุติธรรม
โดยทั่วไปแล้ว ผู้คนมักคำนึงว่า เปา เจิ่งเป็นตุลาการ แต่ความจริงแล้วงานตุลาการเป็นหน้าที่หนึ่งในครั้งที่รั้งตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด เปา เจิ่งนั้นได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหลายประเภท โดยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหกเดือนก่อนถึงแก่อสัญกรรม
เปา เจิ่งนั้นเป็นที่เลื่องลือกันทั่วไปถึงความเข้มงวดในการปฏิบัติราชการ ความกตัญญูกตเวที และการปฏิเสธความอยุติธรรมและการทุจริตในหน้าที่ราชการชนิดหัวชนฝา ชื่อเสียงดังกล่าวทำให้ เปา เจิ่งกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ยุติธรรม (จีน: 清官; พินอิน: qīngguān, ชิงกวน) และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วกระทั่งต่อมาได้รับความนับถือเลื่อมใสถึงขนาดยกย่องเสมอเทพเจ้า เรื่องราวเกี่ยวกับ เปา เจิ่งได้รับการเล่าขานและปรากฏตัวในรูปมุขปาฐะ จนสมัยต่อ ๆ มามีการสร้างสรรค์วรรณกรรมหลายเรื่องเกี่ยวกับเปา เจิ่ง เช่น เรื่อง "เปาเล่งถูกงอั้น" หรือ "ประมวลคดีของเปา เจิ่ง" และเรื่อง "เจ็ดผู้กล้าห้าผู้ทรงธรรม" เป็นต้น ซึ่งวรรณกรรมเหล่านี้ได้มีการนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ในชั้นปัจจุบัน และยังส่งผลระดับสูงถึงสูงมากต่อการปลูกฝังวัฒนธรรมที่ดีในประเทศที่มีการนำไปแพร่ภาพด้วย ทั้งนี้ ตามการวิจัยของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2541
วรรณกรรมข้างต้นทำให้ เปา เจิ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ "เปากง" (จีน: 包公; พินอิน: Bāo Gōng; "ปู่เปา" "ท่านเปา" หรือ "เจ้าเปา") "เปาไตจื้อ" (จีน: 包待制; พินอิน: Bāo Dāizhì; "ว่าที่ราชเลขาฯ เปา") "เปาหลงถู" (จีน: 包龍圖; พินอิน: Bāo Lóngtú; "เปาผู้เป็นประดุจมังกร" ชื่อนี้รู้จักในไทยว่า "เปาเล่งถู") และ "เปาชิงเทียน" (จีน: 包青天; พินอิน: Bāo Qīngtiān; "เปาผู้ทำให้ฟ้ากระจ่าง")
เปา เจิ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงก่อนสมัยสุโขทัยเมื่อเทียบกันแล้ว ส่วนชื่อ "เปาบุ้นจิ้น" ในไทยเป็นคำอ่านสำเนียงแต้จิ๋ว ซึ่งสำเนียงจีนกลางว่า "เปาอุ๋นเจิ่ง" หรือ "เปาเหวินเจิ่ง นอกจากนี้ ในไทยเอง คำ "เปาบุ้นจิ้น" หรือ "ท่านเปา" ยังมีความหมายว่า ตุลาการ ศาล หรือผู้พิพากษาอีกด้วย และบางทีก็เจาะจงว่าหมายถึงตุลาการที่เที่ยงธรรมด้วย




ประวัติ
เปา เจิ่งถือกำเนิดขึ้นในครอบครัวนักวิชาการแห่งนครเหอเฟย์ มณฑลอานฮุย ที่ซึ่งในปัจจุบันประดิษฐานวัดเจ้าเปา (จีน: 包公祠; พินอิน: Bāogōngcí; คำอ่าน: เปากงฉือ) วัดดังกล่าวสถาปนาขึ้นใน พ.ศ. 1609 ใกล้กับสุสานของเปา เจิ่ง
เปา เจิ่งนั้นเมื่ออายุได้ยี่สิบเก้าปีได้เข้ารับการทดสอบหลวง และผ่านการทดสอบระดับสูงสุด ได้รับแต่งตั้งเป็นบัณฑิตเรียกว่า "จินฉื่อ" (พินอิน: Jinshi) และต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงไคฟง อันเป็นเมืองหลวงแห่งประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ซ้ง
ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งหน้าที่ในราชการ เปา เจิ่งไม่ปรานีและประนีประนอมกับความทุจริตใด ๆ เลย เปา เจิ่งนั้นมีนิสัยรักและเทิดทูนความยุติธรรม ปฏิเสธที่จะเข้าถึงอำนาจหน้าที่โดยวิถีทางอันมิชอบ บุคคลผู้หนึ่งที่ชิงชังเปา เจิ่งนักได้แก่ราชครูผัง (จีน: 龐太師; พินอิน: Pángtàishī; คำอ่าน: ผังไท้ชือ) อย่างไรก็ดี ยังไม่ปรากฏข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่แน่ชัดรับรองว่าราชครูผังผู้นี้มีความชิงชังในเปา เจิ่งจริง นอกจากนี้ การปฏิบัติราชการโดยบริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างไม่เห็นแก่หน้าผู้ใดยังทำให้เปา เจิ่งมีความขัดแย้งกับข้าราชการชั้นสูงบางกลุ่ม ซึ่งรวมถึงนายกรัฐมนตรีซ้งหยาง (พินอิน: Song Yang) เปา เจิ่งเคยสั่งลดขั้นตำแหน่งและปลดข้าราชการถึงสามสิบคนในคราเดียวกัน เหตุเพราะทุจริตต่อหน้าที่ราชการ รับและ/หรือติดสินบน และละทิ้งหน้าที่ราชการ กับทั้งเปา เจิ่งยังเคยกล่าวโทษจางเหยาจั๋ว (พินอิน: Zhang Yaozhuo) พระปิตุลาของพระวรชายา ถึงหกครั้ง อย่างไรก็ดี เนื่องจากความซื่อสัตย์และเฉียบขาดในการปฏิบัติหน้าที่ จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย สมเด็จพระจักรพรรดิเหรินจงจึงมิได้พระราชทานราชทัณฑ์แก่เปา เจิ่งในอันที่ได้ล่วงเกินบุคคลสำคัญดังกล่าวนี้
เพื่อนร่วมงานและผู้สนับสนุนคนสำคัญคนหนึ่งของเปา เจิ่ง ได้แก่ อ๋องแปด (จีน: 八王爺; พินอิน: Bāwángyé; คำอ่าน: ปาหวังอี๋) ซึ่งเป็นพระมาตุลาในสมเด็จพระจักรพรรดิเหรินจง
เปา เจิ่งนั้น ถึงแม้รับราชการเป็นเวลากว่าสี่สิบห้าปี และมีตำแหน่งหลากหลายเริ่มตั้งแต่เป็นนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ตรวจราชการแผ่นดิน ผู้ว่าราชการกรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นต้น แต่ผู้คนมักรู้จักเปา เจิ่งในด้านตุลาการ แม้ว่าความจริงแล้วเปา เจิ่งไม่ได้มีอาชีพเป็นตุลาการโดยตรงก็ตาม ความเด็ดเดี่ยวและกล้าตัดสินใจ ทำให้ผู้คนพากันยกย่องและคอยร้องทุกข์ต่อเปา เจิ่งเสมอ
เปา เจิ่งไม่เคยรับของขวัญใด ๆ เลยแม้จะเป็นชิ้นเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม เพื่อหลีกเลี่ยงคำครหาและความไม่เหมาะสมต่าง ๆ
เปา เจิ่งมีหลักในการปฏิบัติราชการว่า "จิตใจสะอาดบริสุทธิ์คือหลักแก้ไขปัญหามูลฐาน ความเที่ยงตรงเป็นหลักในการดำเนินชีวิต จงจดจำบทเรียนในประวัติศาสตร์ไว้ และอย่าให้คนรุ่นหลังเย้ยหยันได้"
ด้านความเป็นอยู่ส่วนตัวและอัธยาศัยนั้น ประวัติศาสตร์จีนบันทึกไว้ว่า เปา เจิ่งเป็นคนตรงไปตรงมา รังเกียจข้าราชการฉ้อราษฎร์บังหลวง และกดขี่ขูดรีดประชาชน แม้จะเกลียดคนเลวแต่ก็มิใช่เป็นคนดุร้าย เปา เจิ่งเป็นคนซื่อสัตย์และให้อภัยคนทำผิดโดยไม่เจตนา กับทั้งไม่เคยคบคนง่าย ๆ อย่างไร้หลักการ ไม่เสแสร้งทำหน้าชื่นและป้อนคำหวานเพื่อเอาใจคน มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเปิดเผย ไม่มีลับลมคมใน จึงไม่มีฝักไม่มีฝ่าย แม้ว่ายศฐาบรรดาศักดิ์สูงส่ง แต่เสื้อผ้า เครื่องใช้ เครื่องแต่งกาย และอาหารการกินก็ไม่ได้แตกต่างจากเมื่อครั้งยังเป็นสามัญชนเลย
การที่เปา เจิ่งได้รับยกย่องว่าเป็นประดุจเทพเจ้าแห่งความยุติธรรมทำให้ชาวจีนเชื่อว่า เปา เจิ่งนั้นกลางวันตัดสินคดีความในมนุษยโลก กลางคืนไปตัดสินคดีความในยมโลก

ชุดเครื่องประหารของเปา เจิ่ง รัฐบาลจีนได้จำลองขึ้นและจัดแสดงไว้ที่ศาลไคฟงในปัจจุบัน
ในงิ้วตลอดจนในละครและภาพยนตร์ ผู้แสดงมักแสดงเป็นเปา เจิ่งโดยมีใบหน้าสีดำ และมีพระจันทร์เสี้ยวอันเป็นเครื่องหมายที่มีมาแต่กำเนิดประดิษฐานอยู่บนหน้าผาก กับทั้งเปา เจิ่งยังใช้เครื่องประหารเป็นชุดซึ่งได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระจักรพรรดิอีกด้วย โดยชุดเครื่องประหารประกอบด้วย เครื่องประหารหัวสุนัขสำหรับประหารอาชญากรที่เป็นสามัญชน เครื่องประหารหัวพยัคฆ์สำหรับอาชญากรที่เป็นข้าราชการและผู้มีบรรดาศักดิ์ และเครื่องประหารหัวมังกรสำหรับพระราชวงศ์ นอกจากนี้ เปา เจิ่งยังได้รับพระราชทานหวายทองคำจากสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ก่อนโดยให้สามารถใช้เฆี่ยนตีสั่งสอนสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ปัจจุบันได้ และกระบี่อาญาสิทธิ์โดยให้มีอาญาสิทธิ์สามารถประหารผู้ใดก็ได้นับแต่สามัญชนจนถึงเจ้าโดยไม่ต้องได้รับพระราชานุญาตก่อนตามธรรมเนียมปฏิบัติ แต่หลังจากประหารแล้วให้จัดทำรายงานกราบบังคมทูลทราบพระกรุณาด้วย เป็นที่มาของสำนวนจีนว่า "ฆ่าก่อน รายงานทีหลัง" (จีน: 先斬後奏; พินอิน: xiānzhǎnhòuzòu, เซียนฉ่านโฮ้วโจ้ว)
ในวรรณกรรมจีนหลายเครื่อง ระบุถึงคดีสำคัญที่ได้รับการตัดสินโดยเปา เจิ่ง ดังต่อไปนี้

รูปเคารพของเปา เจิ่ง ที่จังหวัดชลบุรี
  • คดีฉาเม่ย (จีน: 鍘美; พินอิน: zháměi) : เปา เจิ่งได้ตัดสินประหารเฉินชื้อเม่ย (จีน: 陳世美; พินอิน: Chénshìměi) ผู้ทอดทิ้งภรรยาไปสมรสกับพระราชวงศ์จนได้รับพระราชทานยศเป็นพระราชบุตรเขย และต่อมาได้พยายามฆ่าภรรยาผู้นั้นเนื่องจากนำความไปร้องต่อศาลกรุงไคฟง ชื่อคดีนี้รู้จักกันทั่วไปจากละครโทรทัศน์ชุดเปาบุ้นจิ้นในชื่อ "คดีประหารราชบุตรเขย"
  • คดีหลีเมาฮ้วนไท้จี๋ (จีน: 貍貓換太子; พินอิน: límāohuàntàizǐ) : หรือคดีเกี่ยวกับการทำลายชื่อเสียงของพระวรชายาด้วยการลักลอบนำชะมดมาสับเปลี่ยนกับพระราชโอรสที่เพิ่งมีประสูติกาลและต่อไปจะได้ทรงเป็นมกุฎราชกุมาร คดีนี้มีขันทีชื่อกัวหวาย (จีน: 郭槐; พินอิน: Guōhuái) เป็นจำเลย ขันทีกัวหวายนั้นสนับสนุนงานของเปา เจิ่ง มาตลอดและเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของสมเด็จพระจักรพรรดิ ทำให้กระบวนการสอบสวนเป็นไปได้โดยลำบาก เปา เจิ่งจึงปลอมตัวเป็นหยานหลัว (จีน: 阎罗; พินอิน: Yánluó; มัจจุราช) และจำลองยมโลกขึ้นเพื่อล่อลวงให้ขันทีรับสารภาพ ชื่อคดีนี้รู้จักกันทั่วไปจากละครโทรทัศน์ชุดเปา เจิ่ง ในชื่อ "คดีสับเปลี่ยนองค์ชาย"
เกียรติศัพท์และคดีของเปา เจิ่ง ได้รับการสร้างเป็นละครโทรทัศน์ยอดนิยมในปัจจุบันหลายครั้งหลายครา
อนึ่ง ได้มีการนำรูปเคารพที่เชื่อกันว่าสร้างขึ้นหลังจากเปา เจิ่ง ถึงแก่อนิจกรรมนั้นมาประดิษฐานในประเทศไทย โดยตั้งอยู่ที่อเนกกุศลศาลา ใกล้กับวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี

 คณะของเปา เจิ่ง ตามวรรณกรรม

ในวรรณกรรมจีนส่วนใหญ่ เปา เจิ่งมีคณะผู้ช่วย ประกอบด้วย
  • องครักษ์ จั่นเจา (พินอิน: Zhan Zhao) ชายผู้มีพละกำลังมหาศาลและมีฝีมือในการต่อสู้ชนิดยากหาใครเทียบได้ ในวรรณกรรมบางเรื่อง องค์รักษ์จั่นเจาถือว่าเป็นตัวแทนแห่งฝ่ายทหารหรือฝ่ายบู๊ ในขณะที่เปา เจิ่ง เป็นตัวแทนแห่งฝ่ายพลเรือนหรือฝ่ายบุ๋น
  • ที่ปรึกษาและเลขานุการ กงซุนเช่อ (พินอิน: Gongsun Ce) ชายผู้มีสติปัญญาและความซื่อสัตย์เป็นเลิศที่คอยช่วยเหลือเปา เจิ่ง ในกิจการต่าง ๆ กงซุนเช่อนี้เชื่อกันว่ามีที่มาจากขงเบ้งของเล่าปี่ในวรรณกรรมเรื่องสามก๊ก
  • เจ้าหน้าที่ใหญ่สี่นาย หวังเฉา, หม่าฮั่น, จางหลง และจ้าวหู่ (พินอิน: Wang Chao, Ma Han, Zhang Long, Zhao Hu) ซึ่งอยู่ใต้บังคับบัญชาขององค์รักษ์จั่นเจาอีกทอดหนึ่ง โดยสองนายแรกเป็นองค์รักษ์ฝ่ายซ้ายของเปา เจิ่ง อีกสองเป็นฝ่ายขวา
ผู้ช่วยทั้งหมดนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม และความสามารถ


 ศาลไคฟง


เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจีนที่แต่งเป็นเปา เจิ่ง มาเปิดศาลไคฟง
ศาลไคฟงอันเป็นที่ว่าความของเปา เจิ่ง นั้น ปัจจุบันอยู่ในอำเภอไคฟงหรืออดีตคือกรุงไคฟง จังหวัดเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน เดิมจมน้ำพังทลายไปหมดสิ้น ต่อมารัฐบาลจีนได้บูรณะขึ้น ปัจจุบันในเวลาเก้านาฬิกาของทุก ๆ วัน จะมีผู้แต่งกายเป็นเปา เจิ่ง ออกมาเปิดศาลไคฟงรับเรื่องราวร้องทุกข์และพิจารณาคดี นอกจากนี้ ที่ศาลใหม่ดังกล่าวมีการจัดแสดงไว้ที่หน้าห้องว่าความซึ่งชุดเครื่องประหารของเปา เจิ่ง ด้านในห้องมีหุ่นขี้ผึ้งของคณะเปา เจิ่ง ด้านมี "ชิงซินโหลว" หรือ "บ้านใจบริสุทธิ์" เชื่อกันว่าเป็นจวนของเปา เจิ่ง โดยเป็นหอสูงสี่ชั้น ชั้นที่หนึ่งปัจจุบันมีรูปปั้นเปา เจิ่ง อยู่ รูปปั้นนี้หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ สูง 3.8 เมตร หนัก 5.6 ตัน นับเป็นรูปปั้นที่หนักที่สุดในเมืองจีน

 กรณีค่านิยมเกี่ยวกับการประหารชีวิตในประเทศไทย

จากการที่สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้นำเสนอละครเรื่องเปาบุ้นจิ้นในช่วงปลายปี พ.ศ. 2549 ถึงปัจจุบันนั้น บรรดาผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ได้แสดงความวิตกกังวลว่า "รายการดังกล่าวซึ่งแพร่ภาพในช่วงเวลาที่เด็ก ๆ จะดูโทรทัศน์กันเป็นจำนวนมากนั้นจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อเด็ก ๆ ที่ชม เพราะในเปาบุ้นจิ้นนั้นแม้เนื้อหารายการจะพูดถึงความซื่อสัตย์ ความถูกต้องและความยุติธรรม แต่ในตอนท้ายหลายครั้งเปาบุ้นจิ้นก็ตัดสินลงโทษผู้กระทำผิดด้วยการประหารชีวิต..."
นอกจากนี้ นายฉัตรชัย เชื้อรามัญ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชนสร้างสรรค์เพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมแถลงว่า "...เปาบุ้นจิ้นถึงเนื้อหาจะดี แต่ก็สร้างความเชื่อเรื่องการลงโทษที่ว่าถ้าทำผิดจะต้องตอบแทนอย่างสาสมถึงขั้นตายตกตามกัน แต่เมื่อกฎหมายไทยไม่ค่อยศักดิ์สิทธิ์เหมือนในเปาบุ้นจิ้น เพราะผลการตัดสินถูกผิดบางครั้งก็ขึ้นอยู่กับฝีมือของทนาย จึงเกิดการเล่นกันนอกศาล การฆ่าตัดตอนเลยกลายเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย การให้ดูรายการแบบนี้ก็เหมือนเป็นการสร้างคนพันธุ์ใหม่ สร้างบรรทัดฐานใหม่ โดยใช้เครื่องมือสื่อสาร..."
กับทั้งเสนอให้หน่วยงานของรัฐเข้ามารับผิดชอบกรณีนี้ อย่างไรก็ดี ยังไม่มีความคืบหน้าเกี่ยวกับกรณีข้างต้น